แต่งตัวเป็น Layer


เมื่อออกไปเผชิญกับความหนาวเย็น คนกลางแจ้งอย่างเราต้องการเสื้อผ้าที่แตกต่างจากเครื่องกันหนาวของคนทั่วไป เมื่อมาจาก 3 สาเหตุก็คือ 

  1. เราไม่ได้อยู่นิ่งๆ กิจกรรมกลางแจ้งทำให้เราต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเดิน, แบกของ, กางเต็นท์, ฯ
  2. อากาศกลางแจ้งแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ อาจจะหนาวจัด, ฝนตก, ลมแรง, หิมะตก, หรืออาจจะแดดออกอุ่นขึ้นมากระทันหัน การที่เราอยู่กลางแจ้ง หมายถึงเราไม่สามารถวิ่งเข้าบ้าน หลบฝน, หลบลมแรง หรือวิ่งเข้าไปหาเครื่องทำความอุ่นในบ้านได้ เราอาจจะต้องอยู่กลางแจ้งกันทั้งกลางวันกลางคืน 
  3. เราจะมีข้อจำกัดในการนำเสื้อผ้ากันหนาวติดตัวไปได้ไม่มาก อาจจะมีได้แค่ชุดเดียว ทำให้อุปกรณ์กันหนาวที่เราใช้จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนรับสภาพต่างๆให้ตลอดเวลา

ถ้าเราย้อนไปคิดให้รอบคอบและทำความเข้าใจกันสักนิด เราจะสรุปพื้นฐานของเสื้อผ้าที่จะทำให้ตัวเราอบอุ่นท่ามกลางความหนาวเย็นได้อยู่สามอย่างคือ

  1. เก็บกักความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้น เสื้อหนาวไม่ได้สร้างความร้อน มันเพียงแต่ทำหน้าที่เก็บความร้อนที่ร่างกายเราสร้างขึ้น 
  2. ลดการสูญเสียความร้อนที่เกิดขึ้นการไหลผ่านของสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ลม, ฝน, หิมะ ฯ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของเราสูญเสียความร้อนได้อย่างรวดเร็ว
  3. ลดการสูญเสียความร้อนจากการระเหยของเหงื่อ โดยปรกตแล้วเหงื่อมีหน้าที่หลักคือลดอุณหภูมิของร่างกายด้วยการระเหยจากผิวหนัง ซึ่งเป็นการดูดความร้อนและทำให้ผิวหนังเย็นลง ในสภาวะแวดล้อมที่หนาวเย็น เราอาจจะมีเหงื่อจากการใช้กำลัง แต่เราไม่ต้องการสูญเสียความร้อนไป

 

เมื่อเข้าใจพื้นฐานนี้แล้ว เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า การใส่เสื้อหนาวหนาๆเพียงตัวเดียวให้อุ่นเลยนั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนกลางแจ้งเท่าไหร่นักเพราะจะทำให้เราปรับเพื่อรับสภาพที่แปรเปลี่ยนได้ยาก

นั้นทำให้เราชาวกลางแจ้งจึงเลือกที่จะแต่งตัวเป็นชั้นหรือ Layer กัน โดยที่จะแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ชั้นที่เราสามารถจะเลือกใช้ตามสถานะการณ์และสภาพอากาศ

  1. Base Layer หรือเสื้อผ้าชั้นที่ติดกับผิวหนัง
  2. Work Layer ซึ่งก็คือเสื้อผ้าปรกติที่เราใส่กัน
  3. Mid Layer หรือ Insulation Layer เป็นชั้นหลักที่จะสร้างความอบอุ่น
  4. Outer Layer หรือ Shell คือชั้นนอกสุด

ลองมาดูกันครับว่าแต่ละ Layer นั้นทำหน้าที่อะไรและเรามีตัวเลือกอะไรบ้าง

Base-Layer ขจัดความชื้นออกจากร่างกาย

Base Layer หรือบางครั้งเรียกกันว่า Long John เป็นผ้าไม่หนานักที่ไม่ได้ทำหน้าที่เก็บกักความร้อน แต่ทำหน้าที่ ลดการสูญเสียความร้อนจากการระเหยของเหงื่อ  โดยการซับเหงื่อออกจากผิวหนัง, กระจายเหงื่อออก แล้วให้เหงื่อไประเหยออกจากตัววัสดุของ Base Layer แทน

Base Layer ที่ดีจะต้องแนบชิดกับผิวหนังให้มากที่สุดเพื่อให้ซับเหงื่อได้เร็วและทั่วถึง, ต้องซับน้ำได้ดี และระเหยน้ำออกได้เร็ว

วัสดุที่ดีที่สุดตามคุณสมบัตินี้อย่างหนึ่งก็คือผ้าที่ทอจากขนแกะ (wool) โดยเฉพาะขนแกะ Merino ที่เป็นขนแกะที่มีเส้นใยยาวและอ่อนนุ่มทำให้ไม่ค่อยระคายเคืองหรือคันเมื่อสวมติดกับผิวหนัง ผ้า Wool นี้มีข้อดีอีกอย่างก็คือมันจะไม่เก็บกลิ่น

แต่ถ้าคุณแพ้ขนแกะ ก็ยังมี Base Layer ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ดีๆให้เลือกได้

 

Work-Layer การเคลื่อนไหวที่สะดวก

Work Layer ก็คือเสื้อผ้าปรกติที่เราสวมใส่เพื่อปกป้องร่างกาย ซึ่งเราก็สามารถเลือกใส่ให้เข้ากับสภาพอากาศที่เราจะพบเจอได้ เช่นถ้าเป็นที่มีแดดแรง เราก็อาจจะเลือกเสื้อแขนยาวเพื่อปกป้องผิวจากแดด, ถ้าเส้นทางเป็นป่ารก หรือมีแมลงเยอะเราก็ควรจะเลือกกางเกงขายาว, ถ้าอากาศไม่หนาวมากก็ควรเลือกเสื้อที่ถ่ายเทอากาศและความชื้นได้ดี, ถ้าอากาศหนาวมากก็อาจจะเลือกที่เป็น Wool ซึ่งก็จะช่วยเก็บกักความร้อนเพิ่มได้อีกชั้นหนึ่ง

 

Mid-Layer เก็บความอุ่นจากร่างกาย

Mid Layer หรือ Insulation คือชั้นที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนเพื่อเก็บกักความร้อนที่สร้างกายปล่อยออกมากเหมือนกับขนของสัตว์

เพื่อจะให้มีน้ำหนักเบาแต่อุ่นที่สุด การทำงานของเสื้อผ้าในชั้นนี้จะใช้วิธี เก็บกักอากาศไว้ให้เป็นฉนวนให้มากที่สุดแทนที่จะใช้เนื้อวัสดุที่หน้าและหนัก ดังนั้นเสื้อผ้าในชั้นนี้จะมีลักษณะที่มีเนื้อพองฟูเพื่อเก็บกักอากาศ 

ถ้าอากาศไม่หนาวเย็นมาก ตัวเลือกที่ดีสำหรับชั้นนี้ก็คือเสื้อ Fleece ซึ่งมีลักษณะไม่หนาและหนักมากนัก ข้อดีอีกอย่างของเสื้อ Fleece ก็คือ มันเป็นเสื้อที่ดูแลรักษาง่ายและทนทานมาก

ถ้าอากาศหนาวเย็นมาก ตัวเลือกที่ดีก็คือเสื้อที่บุหน้าด้วยขนห่านหรือใยสังเคราะห์ ซึ่งเสื้อชนิดนี้จะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมันฟูตัว

แม้เราจะอยู่ในยุควัสดุ Hi-tech เพียงใด ขนห่านหรือขนเป็ด ที่เรียกว่า Down นั้นก็ยังเป็นวัสดุที่ทำเสื้อหนาวได้เบาและอุ่นที่สุด เพราะมันฟูตัวได้ปริมาณต่อน้ำหนักมากจนไม่มีวัสดุสังเคราะห์อะไรเทียบได้ (Down นั้นมีหลายเกรด ซึ่งมีผลให้ความอุ่นต่อน้ำหนักที่แตกต่างกันได้มาก)

แต่ขนห่านหรือขนเป็ดมีจุดอ่อนอยู่ที่เมื่อมันเปียกชื้น เส้นใยของมันที่อมน้ำจะยุบตัวและสูญเสียคุณสมบัติในการรักษาความร้อนไป 

เสื้อที่ใช้ใยสังเคราะห์ถ้าจะให้อุ่นเท่ากันจะมีน้ำหนักมากกว่าและเก็บไม่ได้เล็กเท่าเสื้อ Down แต่ก็มีข้อดีที่มันไม่กลัวความชื้น หรือแม้ว่าจะเปียกแล้วก็สามารถทำให้แห้งและคืนสภาพได้ง่ายๆ 

 

Outer-Layer

Outer Layer หรือ Shell ทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียความร้อนจากการไหลผ่านของลมหรือการเปียกจากฝน 

วัสดุที่ใช้ทำ Outer Layer ที่ดีคือวัสดุที่ไม่ยอมให้ลมผ่าน,​กันน้ำ แต่สามารถให้ความชื้นระเหยออกจากด้านในได้ ฟังดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้แต่มีครับ

วัสดุที่มีคุณสมบัติแบบนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม ก็คือ 

  • วัสดุดั้งเดิมที่อาจจะทำผ้าแต่เคลือบวัสดุกันน้ำเสริมเข้าไป

    วัสดุที่น่าสนใจในกลุ่มนี้คือ G-1000 ของ Fjallraven ที่ประดิษมาแล้วกว่า 50 ปีเป็นการทอเส้นใยที่ผสมผสานกันระหว่างผ้าฝ้ายและใยสังเคราะห์แล้วเคลือบด้วยขี้ผึ้งสูตรพิเศษที่ทำให้มันสามารถกันน้ำกันลมได้ดีโดยที่ยังคงระบายความชื้นได้ แม้จะกันฝนหนักไม่ได้ 100 แต่ข้อดีก็คือมันดูแลรักษาง่ายมาก, ทนทานมาก และไม่กลัวสะเก็ดไฟ
  • วัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่ที่กันน้ำแต่มีชั้นเมมเบรนที่ทำหน้าที่ดูซับความชื้นและระเหยความชื้นผ่านเนื้อผ้าออกไปได้

    Ecoshell จาก Fjallraven เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง วัสดุนี้กันน้ำถึง 30,000 ม.ม. ซึ่งก็หมายถึงว่าแม้จะเจอกับฝนที่ตกหนัก กระแทกใส่เนื้อผ้าแรงแค่ไหน มันก็ยังกันน้ำได้สนิท และมีความสามารถที่จะระบายความชื้นออกไปสู่ผิวด้านนอกได้ดีมากอีกด้วย

เมื่อเราเข้าใจหน้าที่ของทั้งสี่ชั้นดีแล้วเราก็สามารถเลือกใช้และประกอบชั้นต่างๆเข้าด้วยกันในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสมแม้เราจะมีเสื้อผ้ากันหนาวเพียงชุดเดียว เช่น

  1. เวลาเดิน – ร่างกายเราจะสร้างความร้อนตลอดเวลา ถ้าอากาศไม่หนาวมากเราต้องการเพียง Base Layer และ Working Layer ถ้าเจอฝนหรือลมแรงก็เพิ่ม Outer Layer เข้าไป และแน่นอน ถ้าเจออากาศหนาวเย็นจัด เราก็สามารถเพิ่ม mid layer เข้าไปได้
  2. เมื่ออยู่ในแค้มป์ – ร่างกายเราไม่ได้สร้างความร้อนมากนัก ถ้าอากาศหนาวเย็นเราจึงควรใส่ Mid layer เพื่อกักเก็บความร้อนให้มากที่สุด ถ้าฝนตกลมแรงก็ค่อยเพิ่ม Outer Layer เข้าไป
  3. นอนในตอนกลางคืน – ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะกระจายความร้อนออกไปให้ทั่วตัว ควรเร่ิมจากผ้าห่มหรือถุงนอนบวกกับแผ่นรองนอนที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอก่อน แล้วไม่ควรใส่เสื้อกางเกงที่เก็บความร้อนมากจนเกินไปจนไม่มีการปล่อยความร้อนออกมาใต้ผ้าห่มทำให้หนาวมือเท้าและส่วนอื่นๆของร่างกาย ถ้าผ้าห่มอุ่นพอ เราอาจจะใส่เพียง Base layer เพื่อช่วยระบายเหงื่อและอาจจะมีหมวกเพื่อลดการสูญเสียความร้อนจากหัว

 

มีคำพูดของชาวสวีเดนที่บอกว่า

“There is no bad weather. There is only bad preparation”

“ไม่มีสภาพอากาศที่เลวร้าย จะมีก็เพียงการเตรียมตัวที่ไม่ดีพอ”

และการเตรียมแต่งตัวเป็น Layer ที่เลือกไปให้เหมาะกับอากาศที่คาดว่าจะเจอ จะทำให้มนุษย์กลางแจ้งอย่างคุณไม่พบเจอสภาพอากาศที่เลวร้ายเลย